เพิ่มโอกาสศึกษาเด็กยากจน 2.5 ล้านคน นำสู่จุดเปลี่ยนประเทศรายสูงใน 20 ปี
กสศ.เปิดข้อมูลเหลื่อมล้ำการศึกษาปี 65 รายได้ครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษเฉลี่ยเหลือ 34 บาทต่อวัน สวนเงินเฟ้อ ชี้ เพิ่มโอกาสการศึกษาให้เด็กยากจน 2.5 ล้านคน นำสู่จุดเปลี่ยนประเทศรายได้สูงใน 20 ปีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2565 นำเสนอแนวโน้มผลกระทบที่เป็นจุดเสี่ยงทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาและข้อเสนอนโยบายสู่การฟื้นฟูระบบการศึกษาไทยให้มีความเสมอภาค โดยพบว่า ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีเด็กนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับ (อนุบาล-ม.3) จำนวนประมาณ 9 ล้านคน อยู่ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รายงานว่า จากการสำรวจสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 1,174,444 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,301,366 คน และล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน
หากพิจารณาโดยใช้รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า มีเด็กและเยาวชนอายุ 3-14 ปี จำนวนกว่า 2.5 ล้านคน อยู่ใต้เส้นความยากจน เนื่องจากมีรายได้ไม่ถึง 2,762 บาทต่อคน/เดือน และหากเปรียบเทียบข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ถึงปีการศึกษา 2565 พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษลดลงมากถึงร้อยละ 5 โดยตัวเลขล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่เฉพาะสังกัด สพฐ. อยู่ที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น ซึ่งมีนักเรียนกว่า 1.3 ล้านคน ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) จาก กสศ. และนักเรียนยากจนอีก 1.8 ล้านคน กสศ. ได้สนับสนุนผลการคัดกรองให้ต้นสังกัดจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม
“จากการประมาณการของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยวิเคราะห์แนวโน้มของดัชนีราคาผู้บริโภคตามอัตราเงินเฟ้อและมูลค่าที่แท้จริง พบว่า ในปี 2563-2566 ดัชนีราคาผู้บริโภคด้านอาหารและการเดินทางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงในการใช้ชีวิตของครัวเรือน ผู้ปกครองและนักเรียน จึงเพิ่มสูงขึ้น แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคด้านการศึกษาจะมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยก็ตาม ดังนั้นครัวเรือนจึงมีแนวโน้มที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายประจำวันในด้านต่างๆ ที่สูงขึ้น อาจจะส่งผลต่อกำลังในการสนับสนุนการศึกษาให้บุตรหลานลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวผู้ยากจน ด้อยโอกาส”